เคยมีคำถามในใจว่า เราจะเลือกหุ้นอย่างไร เพื่อมาเก็บไว้ในwatch lists....
ถ้าเราไม่ได้เชียวชาญในกิจการนั้นพอ หรือไม่มีข้อมูลมากพอ เนื่องจากข้อจำกัดในความรู้ สติปัญญา เวลา หรืออะไรก็ตาม
แต่กระนั้น ก็ยังพอมีสัญญาณอะไรบางอย่างในเราพอจะจับเค๊าได้ว่า
หุ้นตัวไหน ที่มีลักษณะที่มีมูลค่า ในตัว เหมาะแก่การเข้าไปศึกษาให้ละเอียดลึกซึ้ง
ยิ่งๆขึ้นไป
ดังบทความที่ท่าน ดร นิเวศน์ได้ อธิบายไว้ครับ .....
สรุปสั้นๆ หกข้อคือ หนึ่งต้องมี ส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเพราะอยู่ในกลุ่มที่กำลังโต หรือเป็นเพราะแย่งมาจากคู่แข่ง ก็ตามที
สอง สามารถกำหนดราคาขายหรือบริการได้ เพื่อรักษากำไรที่ควรจะเป็น โดยการกำหนดราคาขายหรือบริการได้ตามราคาต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
สาม มีbrand royalty ทีีดี
สี่ สามารถเพิ่มprofit margin ได้ต่อเนื่องเรื่อยๆ
ห้า ROE สูงต่อเนื่อง โดยที่หนี้ไม่สูงตาม
หก มี free cashflow ที่ดีต่อเนื่อง คือได้กำไรเป็นเงินสด และไม่ต้องลงทุนหนักๆติดต่อกันจน ไม่มีเงินพอจะดำเนินกิจการ
และสุดท้าย มีผู้บริหารที่ดี
ขอบคุณ พี่หมอ Sakarin Maneesuk ที่สรุปเนื้อหาดี ๆ มาแบ่งปันค่ะ
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
หุ้นขั้นเทพ
การวิเคราะห์หุ้นนั้น มีปัจจัยที่ต้องพิจารณามากมายทั้งในด้านเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับนักลงทุนบางคนที่อาจจะมีความรู้ในเชิงธุรกิจไม่มากเนื่องจากอาจจะไม่ได้เรียนมาทางสายธุรกิจหรืออาจจะเพิ่งเข้าสู่ตลาดหุ้นเป็นนักลงทุนมือใหม่ และนี่คงเป็นเหตุผลว่าทำไมข้อสรุปของหุ้นแต่ละตัวจึงไม่เหมือนกันระหว่างนักลงทุนแต่ละคน หุ้นตัวหนึ่งนักลงทุนคนหนึ่งอาจจะดูว่าดีมากเป็นซุปเปอร์สต็อกในขณะที่อีกคนหนึ่งมองว่าเป็นหุ้นธรรมดา ๆ หรือหุ้นตัวหนึ่งนักเล่นหุ้นคนหนึ่งบอกว่ามันเป็น Growth Stock หรือหุ้นโตเร็ว ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่ามันเป็นหุ้นวัฎจักรที่เพียงแต่อยู่ในช่วงขาขึ้นและพร้อมที่จะลงในอนาคต วิธีที่จะดูว่าหุ้นหรือบริษัทที่เราสนใจนั้นน่าจะดีหรือไม่อย่างง่าย ๆ ก็คือ หาปัจจัยสำคัญที่สำคัญมาก ๆ บางตัวมาเป็นเครื่องชี้ที่จะบอกว่ามันเป็นหุ้นดีหรือหุ้นแย่ ตัวอย่างเช่น ถ้าการตลาดหรือยี่ห้อของสินค้าของบริษัทนั้นแข็งแกร่งสุดยอดเหนือกว่าคู่แข่งมาก โอกาสก็สูงว่าหุ้นของบริษัทก็น่าจะดีโดยที่เราอาจจะไม่ค่อยต้องพิจารณาปัจจัยอื่นมากหรือละเอียดนัก เป็นต้น
เครื่องชี้วัดที่สำคัญและวิเคราะห์ได้ง่ายตัวหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจและสามารถนำมาใช้ได้ในหุ้นเกือบทุกตัวก็คือตัวเลขของผลประกอบการหรือกำไรในอดีตเพราะนี่คือผลงานที่บริษัททำได้มาแล้ว มันเป็น “ของจริง” ที่เกิดขึ้น และมันสามารถบอกไปถึงอนาคตได้โดยเฉพาะถ้ากำไรที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากผลการทำงานของบริษัทจริง ๆ ไม่ได้เกิดจากภาวะแวดล้อมที่ทำให้บริษัทกำไรดี พูดง่าย ๆ บริษัทไม่ได้กำไรดีเพราะบริษัท “โชคดี” แต่บริษัทกำไรดีเพราะบริษัทมีฝีมือดีมีความสามารถเหนือคู่แข่ง
วิธีที่จะตัดประเด็นของ “โชค” ออกจากตัวเลขผลประกอบการก็คือ การดูกำไรย้อนหลังไปหลาย ๆ ปี เพราะถ้าเป็นเรื่องของโชคแล้ว มันคงไม่เกิดติดต่อกันหลาย ๆ ปี มันน่าจะเกิดขึ้นอย่างมากก็น่าจะไม่เกิน 2-3 ปี หลังจากนั้นก็น่าจะกลับมาเป็นปกติซึ่งเราก็จะเห็นว่ากำไรหลังจากนั้นก็จะแย่ลงและเราก็สรุปได้ว่าบริษัทคงไม่เก่งอะไรนัก ตรงกันข้าม ถ้าเรามองผลประกอบการย้อนหลังไปยาว ๆ แล้วพบว่าบริษัทมีผลงานหรือผลประกอบการที่น่าประทับใจมาตลอด เราก็น่าจะสรุปได้ว่าบริษัทนี้มีความสามารถในการแข่งขันสูงและแน่นอนในอนาคตต่อไปมันก็น่าจะสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องยาวนาน เพราะบริษัทก็เหมือนคน ถ้าเก่งและมีความสามารถ อย่างไรก็ทำเงินได้ต่อไปในอนาคต
ข้อมูลผลกำไรย้อนหลังที่ผมคิดว่าน่าจะเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าบริษัทดีจริงหรือไม่น่าจะไม่น้อยกว่า 7-10 ปีขึ้นไป เพราะนี่นอกจากจะตัดประเด็นเรื่องโชคของบริษัทแล้ว มันยังตัดประเด็นของเรื่องวัฏจักร์ของธุรกิจที่มักจะมีเวลาขึ้นลงไม่เกิน 3-5 ปีด้วย ดังนั้น ถ้าจะหาปัจจัยสำคัญบางตัวที่จะบอกว่าบริษัทหรือหุ้นดีหรือไม่ ผมคิดว่าข้อมูลผลกำไรย้อนหลังประมาณ 7-10 ปี เป็นตัวที่สำคัญมากตัวหนึ่ง และข้อเสนอของผมก็คือ ถ้าบริษัทไหนมีกำไรสม่ำเสมอและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราตั้งแต่ 10% ต่อปีขึ้นไป มาตลอดโดยที่บริษัทไม่ต้องเรียกเงินจากผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเลย ก็ถือว่าบริษัทนั้นหรือหุ้นตัวนั้นเป็นหุ้นที่ดีเยี่ยมโดยไม่ต้องไปดูปัจจัยอื่นมากมาย ถ้าจะใช้คำหรู ๆ แบบที่วัยรุ่นใช้กับดาราชายที่หน้าตาดีมากว่า “หล่อขั้นเทพ” ผมก็อยากจะเรียกหุ้นที่มีผลประกอบการดังกล่าวว่าเป็น “หุ้นขั้นเทพ”
นอกจากตัวเลขผลกำไรแล้ว ปันผลก็เป็นตัวเลขหนึ่งที่สำคัญ เพราะถ้าบริษัทจ่ายปันผลออกมาน้อย กำไรในอนาคตก็ต้องมากขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าบริษัทจ่ายปันผลในแต่ละปีในอัตราสูงเช่นเกิน 50% ของกำไรแต่ละปีด้วย นี่ก็เป็นตัวเสริมให้เป็นหุ้นเทพมากขึ้น ถ้าอัตราการจ่ายปันผลต่ำความเป็นหุ้นขั้นเทพก็ควรจะลดลง นอกจากนั้น ความเป็นเทพมากหรือน้อยยังขึ้นอยู่กับการเติบโตของกำไรเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมา ถ้ากำไรโตปีละถึง 15% ขึ้นไป เราก็อาจจะเรียกว่าเป็นหุ้นเทพมาก แต่ถ้ากำไรโตต่ำกว่า 10% แบบนี้ก็อาจจะเรียกว่าเทพธรรมดาหรืออาจจะไม่เทพเลยถ้ากำไรโตน้อยมากเพียงแค่ 4-5% เป็นต้น เช่นเดียวกัน ความสม่ำเสมอของกำไรในแต่ละปีก็เป็นตัวบอกความเป็นเทพมากหรือน้อยได้ บริษัทที่มีกำไรแทบจะเพิ่มขึ้นทางเดียวปีต่อปี ไตรมาศต่อไตรมาศ แบบนี้ก็เทพมาก แต่บริษัทที่มีกำไรสลับขึ้นลงและโดยเฉพาะที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงท้าย ๆ แบบนี้ความเป็นเทพก็ด้อยลง
หุ้นเทพนั้น โดยปกติราคาจะวิ่งขึ้นเสมอและต่อเนื่องยาวนานตราบที่แนวโน้มของกำไรยังโตขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับอดีต ดังนั้นการถือหุ้นเทพนั้นบางครั้งเราสามารถถือยาวเป็น 5 ปี 10 ปีได้โดยไม่ต้องทำอะไร ในช่วงสั้น ๆ นั้น แน่นอน หุ้นเทพอาจจะมีราคาสูงหรือต่ำจนดูเหมือนกับว่ามันจะ Overvalue หรือ Undervalue แต่เราก็ไม่ควรที่จะต้องมีปฏิกิริยาอะไรนักยกเว้นว่ามันจะเกินไปมาก เหตุผลก็คือ ในที่สุดมันก็จะ “กลับมา” คือหุ้นก็จะขึ้นต่อไปตามผลประกอบการของมัน ผมเองเคยพบนักลงทุนหลายคนที่พยายาม “เล่นสั้น ๆ” ในหุ้นเทพ นั่นคือ เขาจะขายเมื่อหุ้นขึ้นไปแรง เสร็จแล้วก็กลับเข้าไปเก็บเมื่อหุ้นเทพปรับตัวลงมา ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายมันคุ้มค่าไหม เพราะบางครั้งต้องกลับไปซื้อในราคาแพงขึ้นเพราะหุ้นไม่ตกกลับลงมาตามที่คาด บางคนที่ “ขายหมู” ไปแล้วก็ไม่กลับมาซื้ออีกและทำให้พลาด “กำไร” มหาศาลที่ตามมาอีกหลาย ๆ ปี
ข้อจำกัดของการลงทุนในหุ้นเทพนั้นมีพอสมควร เหตุผลหนึ่งก็คือหุ้นเทพนั้นมักจะไม่ถูก นั่นทำให้VI จำนวนมากหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน พวกเขามักจะดูว่ากำไรที่โตขึ้นต่อปีของหุ้นขั้นเทพนั้นมักจะ “ไม่ใคร่สูง” เช่น “แค่ 15%” แต่ค่า PE ของหุ้นนั้นอาจจะสูงถึง 20 เท่าหรือมากกว่า และดังนั้น ค่า PEG หรือค่า PE เมื่อเทียบกับการเติบโตนั้นสูงกว่า 1 เท่า ดังนั้น ตาม “ตำรา” ก็ต้องบอกว่าไม่คุ้มที่จะลงทุน สำหรับประเด็นนี้ผมเองคิดว่าค่า PEG นั้นอาจจะใช้ไม่ได้กับเรื่องของหุ้นเทพ และส่วนใหญ่ที่ใช้กันก็มักจะมอง Growth หรือการเติบโตของกำไรไปแค่ 3-4 ปี ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของหุ้นเทพ
ข้อจำกัดต่อมาของหุ้นเทพก็คือ บางบริษัทเพิ่งเข้าจดทะเบียนไม่นาน ดังนั้นจึงมีข้อมูลไม่พอ แต่ถ้าบริษัทนั้นกลายเป็นหุ้นเทพจริง ๆ ในเวลาต่อมา การลงทุนในหุ้นขั้นเทพตั้งแต่ตอนต้นอาจจะสามารถทำกำไรได้มหาศาล เพราะราคาหุ้นในขณะนั้นอาจจะไม่สูง และนี่นำมาสู่ข้อที่ต้องระวังที่สำคัญสำหรับการลงทุนในหุ้นเทพก็คือ เราต้องพิจารณาดูว่าหุ้นเทพที่เราดูอยู่นั้นกำลังอยู่ในหุ้นเทพ “ขั้นสุดท้าย” หรือเปล่า นั่นก็คือ การเติบโตของกำไรของหุ้นเทพนั้นใกล้สิ้นสุดหรือยังในขณะที่ราคาหุ้นเทพขึ้นไปสูงมาก เพราะถ้าเราเข้าไปลงทุนในช่วงที่บริษัทเริ่มอิ่มตัวไม่สามารถโตต่อไปได้แล้วด้วยเหตุผลต่าง ๆ ในที่สุดราคาหุ้นก็อาจจะปรับตัวลงไปเรื่อย ๆ โดยไม่กลับขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตาม หุ้นเทพส่วนมากก็มักจะมีอายุค่อนข้างยาว บางบริษัทอย่างหุ้นวอลมาร์ทในอเมริกานั้นเติบโตยาวนานหลายสิบปี ดังนั้น การสรุปว่าหุ้นขั้นเทพตัวที่มองอยู่นั้น “หมดยุค” แล้ว จะต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยทั่วไปแล้ว หุ้นขั้นเทพที่ไม่ใช่หุ้นไฮเท็คนั้น ถ้าจะตกต่ำลง ก็มักจะใช้เวลาเป็นปี ๆ หรือหลาย ๆ ปี ความจำเป็นที่จะต้องรีบขายนั้นมักจะไม่มี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น