วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จิตวิทยาการลงทุน


http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9480000058193
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนโดย
       สายงานบริหารกองทุนส่วนบุคคล
       บมจ. หลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด
       e-mail address : bls-privatefund@bualuang.co.th
      
       ในทฤษฎีพอร์ตการลงทุนสมัยใหม่ หรือ Modern Portfolio Theory (MPT) จะสมมติให้นักลงทุนทุกราย ทำการลงทุนอย่างมีเหตุผล หรือเป็น Rational Investor อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ยังมีนักลงทุนอีกมาก ที่มีพฤติกรรมในการลงทุนที่เป็นผลเสียต่อการตัดสินใจลงทุน ซึ่งมีรูปแบบดังต่อไปนี้
      
       1. ผลกระทบจากการเชื่อมั่นตัวเองมากเกินไป (Effect of Over-confidence)
       นักลงทุนประเภทที่เชื่อมั่นตัวเองมากเกินไป มักคิดว่าข้อมูลหรือข่าวสารที่ตนมี ดีกว่าหรือเหนือกว่า นักลงทุนรายอื่นๆ ในตลาดฯ หรือคิดว่าตนเองสามารถแปร หรือตีความข่าวสาร ได้ดีกว่านักลงทุนรายอื่นๆ รวมถึงการที่เชื่อมั่นมากเกินไป ในความสามารถในการคาดการณ์ หรือพยากรณ์ข้อมูลในอนาคต
      
       ปัญหาที่ตามมาสำหรับนักลงทุนประเภทนี้ จะรุนแรงมาก ในสถานการณ์ที่นักลงทุนประเภทนี้ เชื่อว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างได้หมด รวมถึงการจัดการพอร์ตลงทุนของตัวเอง ได้อย่างไม่มีปัญหา
      
       พฤติกรรมที่มีความเชื่อมั่นมากเกินไปเช่นนี้ มักจะนำไปสู่การซื้อขายหุ้นที่มากเกินไป (Frequent Trading) เนื่องจากเชื่อว่า ตนเองสามารถคาดการณ์การขึ้นลงของหุ้นได้ จึงพยายามที่จะทำกำไรทุกรอบของการเปลี่ยนแปลง ในแต่ละช่วงของหลักทรัพย์นั้น ๆ
      
       ข้อเสียของการซื้อขายมากเกินไป คือ
       1. ต้นทุนในการซื้อขาย หรือค่าคอมมิชชั่นจากการซื้อขาย อาจจะมากกว่าการซื้อและถือ
       ไว้
      
       2. นำมาซึ่งการตัดสินใจที่ผิดพลาด เช่น อาจจะขายหุ้นบางตัวทิ้งออกไป เนื่องจากราคา
       ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่หุ้นที่ซื้อลงทุน เป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดี และกำลังจะปรับตัวขึ้น หรือมีการเปลี่ยนตัวที่ไม่ถูกจังหวะ เป็นต้น
      
       ความเชื่อมั่นที่มากไปมีผลกระทบต่อการคาดการณ์ของผลตอบแทนและความเสี่ยง
       นอกจากทำให้ต้นทุนในการซื้อขาย หรือ Trading Cost มากเกินจำเป็นแล้ว นักลงทุนที่เชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป มักจะทำการศึกษา หรือวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไม่ละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง และต้องใช้การวิเคราะห์ที่สลับซับซ้อน ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้น คือนักลงทุนประเภทนี้ จะประเมินความเสี่ยงของการลงทุนต่ำเกินไป รวมทั้งคาดการณ์ผลตอบแทนที่สูงเกินจริงด้วย
      
       ผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนประเภทนี้ มักจะมีลักษณะ 2 ประเภท ดังต่อไปนี้
      
       1. พอร์ตการลงทุนมีความเสี่ยงมากเกินไป (Overly Risky Portfolio)
       2. พอร์ตการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงต่ำเกินไป ( Poorly Diversified Portfolio)
      
       2. ผลกระทบจากความเสียใจและความภูมิใจ (Effect from Regret and Pride)
       ความกลัวที่จะเสียใจ (Fear of Regret) หมายถึง ความรู้สึกหวาดกลัวจากการตัดสินใจลงทุนผิดพลาดในอดีต ในขณะที่การแสวงหาความภูมิใจ (Seeking of Pride) จะหมายถึง ความรู้สึกสนุก ที่ได้ทำการตัดสินใจลงทุนที่ชาญฉลาด ซึ่งรูปแบบพฤติกรรมการลงทุนทั้ง 2 นำมาสู่การลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้
      
       1. ความกลัวที่จะเสียใจ: ในบางครั้ง นักลงทุนอาจทำการถือครองหุ้นที่ราคาตกลงมา
       นานมากเกินไป ด้วยความหวังที่ว่า ราคาจะกลับมาในจุดที่ตัวเองเคยซื้อไว้ ซึ่งในทางกรณีที่นักลงทุนยอมรับว่า การลงทุนนั้นๆ เป็นความผิดพลาด และทำการขายตัดขาดทุนออกไป อาจลดการขาดทุนลงได้
      
       2. ความภูมิใจที่ได้ลงทุน: นักลงทุนประเภทนี้ มักเข้าซื้อหุ้นได้ถูกเวลา แต่มักจะทำการ
       ขายออกไปเร็วเกินไป ทำให้กำไรที่เกิดขึ้นมีไม่มากนัก
      
       โดยสรุป พฤติกรรมการลงทุนที่มีพื้นฐานมาจากความกลัว มักทำให้ขาดทุนมากเกินไป ในขณะที่ความภูมิใจ จะทำให้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (Selling Winners Too Early and Holding on to Losers Too Long)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น