วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บทความของ ดร.นิเวศน์ 27/2/2555

Monday, 27 February 2012
ลงทุนอย่างสบายใจ« วัฒนธรรมเภท | Main


การลงทุนในหุ้นนั้น หลาย ๆ คนมักจะรู้สึกเครียดและมีกังวลอยู่ตลอดเวลา เขากลัวว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดในประเทศไทยหรือในโลกนี้ซึ่งจะทำให้หุ้นตกทั้งตลาดและทำให้หุ้นเขาตกลงไปด้วย เขากังวลว่าหุ้นตัวที่เขาถืออยู่อาจจะมีปัญหาหรือมีเหตุการณ์ไม่ดีซึ่งทำให้หุ้นตกลงมาอย่างหนักและทำให้เขาขาดทุนมากมายอย่าง “ไม่คาดฝัน” การลงทุนในหุ้นดูเหมือนว่าจะมี “ต้นทุน” ที่ไม่ใช่ตัวเงินแฝงอยู่นั่นก็คือ ความกังวลและความไม่สบายใจ และนั่นอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นบ่อยเพื่อ “ลดความไม่สบายใจ” ในสถานการณ์ที่ “ไม่แน่นอน” แต่นี่มักจะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของเราลดลงในระยะยาว คำถามก็คือ จะทำอย่างไรถึงจะทำให้เราสามารถลงทุนอย่างสบายใจได้?

สูตรการลงทุนอย่างสบายใจของผมก็คือ ข้อแรก จงตั้งความหวังผลตอบแทนระยะยาวจากการลงทุนในหุ้นให้เหมาะสมนั่นก็คือ ผลตอบแทนทบต้นต่อปีเฉลี่ยประมาณ 10% ถ้าเราคิดว่าเรามีความสามารถสูงมาก ก็อาจจะตั้งความหวังได้สูงขึ้น แต่สูงสุดไม่ควรเกิน 15% ต่อปี โดยคำว่าระยะยาวของผมนั้นจะต้องยาวไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป การตั้งความหวังที่เหมาะสมนั้นจะทำให้เรามีโอกาสบรรลุผลได้ไม่ยากเกินไปซึ่งจะทำให้เราไม่ต้อง “เร่ง” ผลตอบแทนโดยวิธีการต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ไม่ต้องเล่น “หุ้นร้อน” หรือ ไม่ต้องใช้มาร์จินในการซื้อขายหุ้น เป็นต้น ซึ่งทำให้เราสามารถลงทุนหุ้นได้แบบ “ชิว ๆ”

ข้อสอง เลือกซื้อหุ้นที่เน้นความปลอดภัยของตัวกิจการเป็นหลัก นี่คือหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงช้าในด้านของธุรกิจ เป็นกิจการที่ไม่ล้ำสมัยแต่ไม่ล้าสมัย เป็นกิจการที่เป็น “ผู้นำ” มีฐานะทางการเงินดี และถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีกก็คือ เป็นกิจการที่เราเองมีโอกาสได้พบเห็นหรือได้ใช้บริการเป็นประจำ

ข้อสาม ต้องมีการกระจายความเสี่ยงในการถือหุ้นอย่างเหมาะสม นั่นก็คือ ถ้ามีเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ก็ควรต้องมีหุ้นอย่างน้อยประมาณ 5 ตัวโดยที่ตัวใหญ่สุดไม่ควรจะเกิน 30% ของพอร์ต นอกจากนั้น ควรจะถือหุ้นในหลาย ๆ อุตสาหกรรม แต่ถ้ามีเงินลงทุนค่อนข้างมากเช่นเป็น 10 ล้านบาทขึ้นไป หุ้นที่ลงก็อาจจะมากขึ้นไปได้ แต่ก็ต้องไม่มากจนเกินไป เพราะมิฉะนั้นเราก็อาจจะมีหุ้นที่เป็น “เบี้ยหัวแตก” ที่ทำให้เราขาดการเอาใจใส่และทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของเราด้อยลงไปได้ โดยทั่วไปแล้ว ผมคิดว่าถ้ามีเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ก็ไม่ควรถือหุ้นเกิน 10-15 ตัว

ข้อสี่ เราควรพยายามตั้งเป็นกฎคร่าว ๆ ว่าในแต่ละปีเราจะมีการซื้อขายหุ้นไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ตการลงทุน กฎง่าย ๆ ของผมก็คือ ปริมาณการซื้อขายหุ้นของเราในแต่ละปีไม่ควรจะเกิน 2 เท่าของขนาดของพอร์ตของเรา เช่น ถ้าพอร์ตของเราเท่ากับ 1 ล้านบาทในตอนต้นปี เราควรซื้อขายหุ้นในปีนั้นไม่เกิน 2 ล้านบาท นั่นแปลว่า เราจะถือหุ้นแต่ละตัวเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยเฉลี่ย ถ้าเราซื้อขายหุ้นมากกว่านั้นก็แสดงว่าเราอาจจะถือหุ้นสั้นเกินไปและอาจจะหมายความว่าเราเป็น “นักเก็งกำไร” แทนที่จะเป็น “นักลงทุน” และประเด็นของผมก็คือ การเป็นนักเก็งกำไรนั้น ก่อให้เกิดความตึงเครียดสูงกว่านักลงทุนมาก

ข้อห้า อย่าสนใจการขึ้นหรือลงของหุ้นแต่ละตัวมากนัก พยายามมองภาพรวมของพอร์ตหุ้นว่าเติบโตขึ้นหรือลดลง การ ไปเน้นดูหุ้นแต่ละตัวก่อให้เกิดความเครียดเพราะเราจะพบหุ้นที่มีราคาตกลงไป มากและอาจจะพยายามไปทำอะไรกับมันที่อาจจะไม่ก่อให้เกิดผลดี ที่สำคัญก็คือ อย่าไปดูราคาหุ้นทุกตัวทุกวัน วิธีที่ผมแนะนำก็คือ ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน เราก็คำนวณดูว่าพอร์ตการลงทุนของเราเป็นเท่าไรโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีอยู่มากมาย โดยการดูเป็นพอร์ตนี้ เราก็จะเห็นว่าความผันผวนมันน้อยลงเมื่อเทียบกับหุ้นแต่ละตัว และนี่ทำให้เราเครียดน้อยลง และถ้าเราลงทุนเลือกหุ้นได้ถูกต้องโดยเฉลี่ย เราก็ควรจะเห็นพอร์ตของเราโตขึ้นอย่างช้า ๆ และมั่นคงเมื่อเวลาผ่านไป

ข้อหก การที่เราจะทำอะไรกับหุ้นแต่ละตัวนั้น ไม่ควรจะเน้นไปที่ด้านของราคาหุ้นรายวัน สิ่งที่เราควรทำก็คือ ทุกไตรมาศ เราต้องติดตามดูว่าผลประกอบการของบริษัทเป็นอย่างไร มันเป็นไปอย่างที่เราคาดไว้ไหม? เช่น ดีขึ้น ดีขึ้นมาก แย่ลง แย่ลงมาก เพราะอะไร? จากนั้นก็สามารถนำมาตัดสินได้ว่าเราจะทำอะไรกับหุ้น โดยปกติถ้าเราลงทุนหุ้นถูกตัวแล้ว ส่วนใหญ่เราก็มักจะไม่ต้องทำอะไร แต่ในบางกรณีที่เราคาดการณ์ผิด เราก็อาจจะขายทิ้งได้ เช่นเดียวกัน บางครั้งเราก็อาจจะซื้อเพิ่ม โดยวิธีนี้ เราก็ไม่ต้องกังวลเป็นรายวันกับราคาของหุ้นมากนัก

ข้อเจ็ด เมื่อเราได้รับปันผลมา อย่านำเงินไปใช้หรือเอาออกจากพอร์ตถ้าไม่จำเป็น นำปันผลนั้นกลับไปซื้อหุ้นกลับเข้าพอร์ตเพื่อทำพอร์ตให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นหลักการลงทุนแบบทบต้นซึ่งจะทำให้พอร์ตโตเร็วขึ้นแบบทวีคูณ เป้าหมายของเราควรจะตั้งไว้ว่าเราต้องการสร้างพอร์ตนี้เพื่อเป็นเงินเพื่อการเกษียณหรือเป็นเงินมรดกเพื่อลูกหลาน เงินที่เราจะนำไปใช้จ่ายนั้นควรเป็นเงินที่เราทำมาหาได้จากน้ำพักน้ำแรงมากกว่า ถ้าคิดได้แบบนี้ เราก็จะสบายใจว่านี่เป็น “เงินเย็น” ที่จะอยู่กับเราต่อไปอีกนานเราจะเครียดน้อยลง

ข้อแปด ทุกปี เราต้องคำนวณหาผลตอบแทนประจำปีดูว่าเราทำได้เท่าไรเทียบกับผลตอบแทนของตลาดและเทียบกับเป้าหมายระยะยาวของเราซึ่งก็คือ 10-15% ที่เราตั้งไว้ ถ้าเราทำได้ดีกว่าตลาดและดีกว่าเป้า เราก็ควรจะดีใจโดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ถ้าเราทำได้แพ้ตลาดแต่ยังทำได้ตามเป้าเราก็ยังควรจะดีใจเพราะในไม่ช้าเป้าหมายระยะยาวของเราก็ไปได้ถึง แต่ถ้าเราแพ้ทั้งตลาดและก็ไม่ได้ตามเป้าส่วนตัวของเรา เราก็อาจจะเสียใจบ้างแต่ก็ควรจะดูต่อไปว่าปันผลที่ได้รับในปีนั้นของเราเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้ามันยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน นั่นก็อาจจะเป็นเครื่องปลอบเราว่าที่จริงการลงทุนของเรานั้นไม่ได้ผิดพลาด มันยังก้าวหน้าไป เพียงแต่ในระยะสั้น ๆ ตลาดหุ้นอาจจะไม่เป็นใจทำให้ราคามันลดลง แต่ในอนาคต มันก็คงจะปรับตัวขึ้นไปได้ไม่ยาก ว่าที่จริง ในระยะยาวจริง ๆ แล้ว ปันผลนั้นถือว่าเป็นเครื่องวัดที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่งว่า เราลงทุนได้ถูกต้องหรือเปล่า ถ้าปันผลเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราที่น่าประทับใจ เราก็ไม่มีอะไรต้องวิตกเลย

ทั้งหมดนั้นก็เป็นกลวิธีการลงทุนที่จะทำให้เรามีความสบายใจ ใช้เวลาไม่มาก ไม่เครียด และได้ผลดี โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีงานประจำเต็มเวลา การลงทุนแบบนี้เปรียบไปก็จะคล้าย ๆ กับการปลูกต้นไม้ใหญ่ยืนต้นที่เราเฝ้าดูแลมันเติบโตขึ้นช้า ๆ แต่มั่นคง โดยที่เราไม่ต้องเร่งมัน แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง เราก็จะได้อาศัยร่มเงาและผลของมันมากินได้ต่อเนื่องยาวนานและเป็นที่พึ่งของเราได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น